วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ดอกเลา


ดอกเลา คำเปรียบเทียบคนล้านนา ผะหญาการสังเกตดอกไม้ธรรมชาติ

สีผมของคนเรามันเปลี่ยนแปรไปตามธรรมชาติจากสีดำดกเข้มขำ หลายๆคนเปลี่ยนไปเป็นสีดอกเลา ดอกเลามันเป็นอย่างไร เด็กๆสมัยนี้เคยเห็นเคยรู้กันบ้างไหม หรือแม้แต่ผู้หย่งผู้ใหญ่บางคนยังไม่เคยเห็นดอกเลาแต่ก็ว่าตามเขาได้สบายปาก แถมผมบนหัวตัวเองยังเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีดอกเลาให้เขาได้เห็น

วันนี้ได้นำกล้องถ่ายภาพคู่ชีพออกจากบ้านไปเที่ยวตามลำน้ำ เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำปิงอย่างหลากหลาย บ้างทอดแห บ้างขุดทรายจากพื้นน้ำขึ้นใส่ในลำเรือ แต่ที่แน่ๆ สองฟากฝั่งมีดอกเลาสีขาวเต็มไปหมด ทำให้นึกถึงคำกล่าวของคนล้านนาที่ว่า "ผมขาวเหมือนดอกเลา"

ลุงอิ่นแสง ที่เป็นชาวสวนใกล้ลำน้ำปิงได้เล่าว่า "ต้นอ้อ ต้นแขม หรือต้นเลามันขึ้นมากมายตามฝั่งลำน้ำแม่ปิง ที่จริงไม้พวกนี้มันมีประโยชน์มากมายต่อฝั่งน้ำ เพราะมันมีรากเหง้าที่ลึกและดกหนา แผ่กระจายไปกว้างจับเกาะตามหน้าดินซึ่งเป็นฝั่งน้ำให้เนื้อดินติดกันแน่น ไม่พังไปกับสายน้ำได้ง่ายๆ"

พูดถึงดอกเลาหรือดอกแขมมักจะออกดอกให้ผู้คนได้เห็นเมื่อยามเข้าสู่หน้าหนาว ขณะที่กระแสน้ำปิงเริ่มลดลาฝั่ง ยามที่ลมหนาวโชยกระแสพาเอาความหนาวเย็นมาสู่ผู้คน ดอกเลาเริ่มแทงยอดอวดสีขาวบริสุทธิ์ให้ผู้คนได้รับรู้ว่าฤดูกาลทำสวนริมฝั่งน้ำเริ่มต้นได้แล้ว

เมื่อเห็นดอกเลา ชาวสวนสองฝั่งปิงจะลงมือถากถางขุดแต่งพื้นดินให้เป็นร่องเป็นแปลงเพื่อปลูกพืชสวนตามปกติ ในยามนี้เองเราจะเห็นกลุ่มควันที่เผาไหม้จากกอหญ้า กอพืชที่ไม่ต้องการลอยเคว้งคว้างผ่านปลายยอดดอกเลาดูสวยงามยิ่งนัก ในขณะที่มองไปบนท้องฟ้าเห็นสีครามกว้างไกล

บางครั้งสายลมหนาวพลิ้วพัดจอยพาความเย็นมาสัมผัสผิวกายทำให้เกิดความสุขอย่างสมบูรณ์อารมณ์ในขณะที่อยู่ริมสายน้ำ สายลมพลิ้วคราวครั้งหนึ่งอาจพัดเอาละอองเกสร กลีบดอกเลาปลิวไปตามสายลมพลัดพรากจากถิ่นที่เคยอยู่ไปตกหล่นพลัดถิ่นในที่ไกล แต่ดอกเลายังคงสีขาวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมันอย่างเข้มข้นทำให้ผู้คนต่างใช้ความสังเกตสีของดอกเลาเอามาเปรียบเทียบกับสีของเส้นผมจากสีดำเป็นสีขาวตามอายุขัยวัยที่แปรเปลี่ยนเช่นกัน

ผมสีดอกเลาจึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนผู้คนให้พิจารณาตนเอง พิจารณาสังขาร วัยอันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติที่ไม่สามารถยับยั้งไว้ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า อันที่อยากให้มันหยุดมันก็ไม่หยุด นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น